AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยี AI ได้ถูกนำมาใช้ภายในองค์กรและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในการทำงานด้านการวางแผนทรัพยากร การบริหารจัดการทรัพย์สิน การบริหารจัดการงานต่าง ๆ และด้วยความสามารถของ AI ที่มากมายเหล่านี้นี่เอง จึงทำให้หลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานของ AI
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับ AI ให้มากยิ่งขึ้น เราจะพาทุกคนไปดูกันว่าระบบการทำงานของ AI นั้นเป็นอย่างไร จะใช่อย่างที่เราคิดกันไว้หรือไม่ หรือจะแตกต่างกับสิ่งที่เรารับรู้มาตลอดไปอย่างสิ้นเชิง
แค่สามารถประมวลผลได้ ก็ถือว่าเป็น AI แล้ว ?
อาจจะพูดได้ว่าเป็นข้อเข้าใจผิดแรก ๆ ที่หลายคนมี เพราะเป็นที่รู้กันว่า AI จำเป็นจะต้องมีการประมวลผล และเมื่อเราเห็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่มีการประมวลผล ก็อาจจะทึกทักไปว่านั่นคือ AI
แต่รู้หรือไม่ว่าปัญญาประดิษฐ์นั้น ไม่ใช่แค่ความสามารถในการประมวลผลเท่านั้น แต่ยังต้องเรียนรู้ได้เอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมที่ชัดเจน ซึ่งการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์นั้นจะเป็นการเรียนรู้จากอัลกอริธึมการเรียนรู้แบบก้าวหน้า ผ่านการจำลองกระบวนการต่าง ๆ และปรับให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการเรียนรู้ซ้ำ ๆ ผ่านข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งการเรียนรู้เชิงลึกของแบบจำลองจะเป็นการเรียนรู้จากข้อมูลโดยตรง ยิ่งมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้แบบจำลองเกิดความแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแค่ประมวลผลได้เพียงอย่างเดียวคงไม่พอที่จะเรียกว่าเป็น AI แต่ต้องมาพร้อมกับการเรียนรู้เชิงลึก การประมวลผล รวมถึงการจำลองกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
AI สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ ?
หลายคนอาจจะคิดว่า AI สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างที่ตามต้องการ ต้องบอกก่อนว่าในปัจจุบันนี้ AI มีการพัฒนาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเภท ซึ่งปัญหาก็คือถ้าเกิดไม่มีข้อมูลมาก่อน AI ก็จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างแบบจำลอง และไม่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ปัญหาของโรคระบาดเกิดใหม่ ก็ไม่สามารถทำให้ AI จัดการแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง เพราะว่าเราไม่ได้มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และอย่างที่เรารู้กันว่า AI นั้นจะไม่สามารถประมวลผลและจำลองผลได้ถ้าหากไม่มีข้อมูลที่มากพอ รวมถึงจะไม่สามารถเรียนรู้ได้ ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาฟังก์ชันและรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงเป้าหมายมากที่สุด
AI เป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ทันที?
ในข้อนี้เราต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าเทคโนโลยี AI นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบที่มีการใช้งานในปัจจุบัน นั่นก็คือ แบบสำเร็จรูป และแบบที่ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างกันในการใช้งาน นั่นก็คือ
- AI สำเร็จรูป: เป็น AI ที่ไม่จำเป็นจะต้องสร้างโมเดลขึ้นมาใหม่ แค่เรียกอัลกอริธึมมาเรียนรู้ข้อมูลจากชุดข้อมูลที่มีการเลือกไว้ ทำให้ไม่สามารถปรับแต่งหรือเปิดดูโค้ดเพื่อทำความเข้าใจในกลไกของระบบการใช้งานได้นั่นเอง
- AI ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ หรือ AI ที่เฉพาะเจาะจง:เป็นการสร้าง AI ขึ้นมาจากชุดข้อมูลหรือปัจจัยที่เฉพาะเจาะจง เพื่อสร้างแบบจำลองโมเดลขึ้นมา และพัฒนาต่อยอดให้เหมาะกับการใช้งาน
นั่นหมายความว่า เมื่อคุณนำข้อมูลชุดเดียวกันเข้าไปใช้งานกับ AI สำเร็จรูปและ AI ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับโค้ดที่เขียนขึ้นมา และขึ้นอยู่กับอัลกอริธึมที่ได้กำหนดเอาไว้ ทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่า AI ไม่ใช่เทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ทันที แต่ต้องมีการพัฒนา เรียนรู้ และสร้างโมเดลขึ้นมาให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุดด้วย
AI สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ?
แม้ว่าเราจะรู้กันอยู่แล้วว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องรู้ก็คือ AI จะเป็นการเรียนรู้โดยมีข้อมูลต้นแบบและการเขียนอัลกอริธึมให้สามารถทำงานได้ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ โดยที่จะต้องมีการกำหนดโค้ดต่าง ๆ เพื่อให้เรียนรู้ไปตามกลไกที่ได้ออกแบบเอาไว้ และหากมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือมีข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ AI ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เอง แต่จำเป็นต้องปรับการเรียนรู้ของ AI ให้สามารถทำการจำลองและวิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์ให้ตรงกับที่ต้องการ
นอกจากนี้แล้ว การเลือกอัลกอริธึมให้เหมาะสมกับปัญหาและการนำเสนอปัญหาให้กับอัลกอริธึมนั้น จำเป็นจะต้องเลือกให้เหมาะสมและทำอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้โมเดลสามารถทำงานได้ดี และสามารถใช้งานได้กับปัญหาต่าง ๆ ได้ตามที่คาดหวังเอาไว้
AI จะแย่งงานคน ?
หลายคนอาจคิดว่าเมื่อมี AI แล้ว อาชีพของมนุษย์จะถูกแย่งไปไหม แต่เคยสังเกตบ้างไหมว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในยุคต่าง ๆ ก็ไม่ได้เข้ามาแย่งชิงอาชีพของมนุษย์ไปได้ แต่กลับทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อการทำงานมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ที่มีการนำหัวรถจักรไอน้ำเข้ามาใช้ เพื่อช่วยให้การคมนาคมขนส่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงจากพลังงานถ่านหินมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมัน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีการพัฒนาระบบไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งาน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผสมผสาน และอาจถือได้ว่าเป็นการ disruption ในวงกว้างยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะ Internet of Things, Block Chain, AI, VR, AR เป็นต้น
อันที่จริงแล้ว AI ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแย่งอาชีพของมนุษย์ แต่เป็นเครื่องมือให้กับมนุษย์เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้บางอาชีพเป็นที่ต้องการลดลง และนำไปสู่การพัฒนาของเทคโนโลยี รวมถึงการเกิดอาชีพใหม่ ๆ ทั้งอาชีพนักพัฒนา AI, นักการตลาด ไปจนถึงอาชีพที่มีการใช้งาน AI เป็นต้น
สอน AI: AI ทำได้ทุกอย่างจริงหรือ ? รวมเรื่องที่คุณอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับ AI อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://businesssmarttools.com/