อาหารบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อหัวใจและอาหารบางชนิดก็สามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจเราได้เช่นกัน อาหารที่ดีสำหรับการช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจส่วนมากมักเป็นอาหารที่มาจากธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และในทำนองเดียวกัน อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพหัวใจก็มักเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
แม้เรารู้ว่าการรับประทานอาหารบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ และการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของเราก็มักจะทำได้ยาก แต่การลองพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพให้ลดลงแล้วหันมาปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารของคุณให้เป็นไปเพื่อสุขภาพมากขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมและสุขภาพหัวใจของเราได้ และต่อไปนี้คืออาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ ที่เราควรกินเป็นประจำ
วิธีบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
เลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพ
ออกกำลังกาย
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ
เลิกสูบบุหรี่และอยู่ให้ห่างจากควันบุหรี่มือสอง
ควบคุมคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต
ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น
จัดการกับความเครียดให้ได้
5 อาหารบำรุงหัวใจ
1. ผักและผลไม้
ผักและผลไม้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อย่างเช่น กล้วยและมันเทศให้โพแทสเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญสำหรับการบำรุงสุขภาพของหัวใจ ผักตระกูลกะหล่ำสามารถช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ผักใบเขียวให้ไฟเบอร์ซึ่งสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลและลดความดันโลหิต
2. เมล็ดธัญพืช
ไม่ใช่คาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ไม่ดี คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีอย่างเช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว หากรับประทานมากเกินก็มักจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี แต่คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มักได้จากธัญพืชไม่ขัดสีกลับให้ใยอาหาร ซึ่งสามารถเป็นตัวบำรุงสุขภาพหัวใจได้ นอกจากนี้ธัญพืชไม่ขัดสียังเต็มไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก ซีลีเนียม ไทอามิน (วิตามินบี 1) ไรโบฟลาวิน (วิตามินบี 2) ไนอาซิน (วิตามินบี 3) โฟเลต (วิตามินบี 9) และแมกนีเซียม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสารอาหารที่ดีต่อหัวใจ และนอกจากนี้ยังพบคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนได้ในถั่ว มันฝรั่ง ถั่วลันเตา และข้าวโพด
3. อาหารที่มีโปรตีน
แม้ว่าโปรตีนบางชนิด เช่น โปรตีนที่ได้จากเนื้อแดงและอาหารแปรรูป อาจเป็นอันตรายต่อหัวใจ แต่โปรตีนอื่น ๆ กลับเป็นสารอาหารเพื่อช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจได้ โดยเฉพาะโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และเนื้อปลา ซึ่งนักโภชนาการมักแนะนำให้รับประทานโปรตีนจากแหล่งโปรตีนที่หลากหลาย
4. อาหารที่มีไขมันดี
บางคนอาจคิดว่าไขมันจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แต่จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับประเภทของไขมันมากกว่า ไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวมักจะเกี่ยวข้องกับปัญหาหัวใจและหลอดเลือด แต่ร่างกายของเรากลับต้องการไขมันดีเพื่อสุขภาพ โดยเราสามารถรับไขมันดีได้จาก ปลา ถั่วและเมล็ดพืช รวมถึงอะโวคาโดและน้ำมันพืชบางประเภท เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย
5. เครื่องปรุงรสแบบลดโซเดียม
การกินเกลือมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ การจำกัดเกลือและโซเดียม สามารถช่วยให้หัวใจของเรายังคงสุขภาพดี โดย American Heart Association แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี รับโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม (มก.) ต่อวัน หรือประมาณเกลือ 1 ช้อนชา และในผู้ใหญ่ที่สุขภาพไม่ดี รับโซเดียมได้ไม่เกิน 1,500 มก. ต่อวัน
แม้ว่าการลดปริมาณเกลือที่เติมลงในอาหารจะเป็นวิธีการที่ดี แต่เกลือส่วนใหญ่ที่เรารับประทานนั้นมักมาจากอาหารกระป๋องหรืออาหารแปรรูป เช่น ซุป ขนม และอาหารแช่แข็ง ดังนั้นการเลือกกินอาหารสดและทำอาหารเองสามารถลดปริมาณเกลือได้
อาหารสุขภาพ บำรุงหัวใจ ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงโรค อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://thetastefood.com/